ไทยโพสต์ 30 ตุลาคม 2555
รมว.พาณิชย์เดินหน้า กล่อมลาว พม่า ดึงร่วมวงค้าข้าวอาเซียน หลังเวียดนาม กัมพูชา ตอบตกลงไปแล้ว คาดประกาศความร่วมมือในการประชุมอาเซียนซัมมิตกลาง พ.ย.นี้ ด้านกสิกรไทยจับมือพันธมิตรจีน 19 แห่งพัฒนาเครือข่ายบริการแฟคเตอริ่ง เปิดแผนธุรกิจปี 2556 ตั้งเป้าสินเชื่อโต 9-10% คุมหนี้เน่าไว้ที่ 2-3%
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยและเวียดนามได้ตกลงที่จะร่วมมือกันค้าข้าวในตลาดโลก เพื่อดึงราคาข้าวและช่วยให้เกษตรกรของทั้ง 2 ประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไทย-เวียดนามที่ผ่านมา เวียดนามได้ตกลงตามข้อเสนอของไทยในการกำหนดเป้าหมายผลผลิต เป้าหมายราคา และตกลงร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (ฟู้ด ซีเคียวริตี้) ให้กับโลก
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศไปเตรียมการเจรจากับ สปป.ลาว โดยให้นัดคุยกับรัฐมนตรีพาณิชย์ สปป.ลาว ก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิตที่จะมีขึ้นช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ เพื่อหารือถึงกรอบความร่วมมือในเรื่องข้าวของประเทศในอาเซียน หลังจากที่ไทยได้เจรจากับทางเวียดนามและกัมพูชา และทั้ง 2 ประเทศได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของไทยแล้ว ส่วนกับพม่าจะมีการหารือกันในระหว่างการปะชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (JTC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ
“ถ้าประเทศผู้ปลูกและส่งออกข้าวในอาเซียน 5 ประเทศเห็นพ้องต้องกัน ก็จะเสนอให้ผู้นำอาเซียนประกาศความร่วมมือในเรื่องข้าวในเวทีการประชุมอาเซียนซัมมิตที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพกลางเดือน พ.ย.ต่อไป โดยจะจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวและผู้ค้าข้าวอาเซียน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในเรื่องการค้าข้าว การสำรองข้าว เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับโลก” นายบุญทรง กล่าว
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 หรือความร่วมมืออาเซียนบวก 3 ได้แก่ ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของเอเชียมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนปีที่แล้วสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท
ธนาคารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเติบโตในการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน โดยจะร่วมลงนามความร่วมมือกับธนาคารจากจีน 19 แห่ง ที่เป็นสมาชิกสมาคมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ เบื้องต้นได้ลงนาม 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไชน่าหมิงเซิง ธนาคารผิงอัน ธนาคารจาวซาง ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู่ตงแห่งเซี่ยงไฮ้ ธนาคารแห่งเซี่ยงไฮ้ และธนาคารเปาซาง เพื่อร่วมกันพัฒนาบริการแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ครอบคลุมการบริการแฟคเตอริ่งระหว่างไทย-จีนที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าการทำแฟคเตอริ่งของความร่วมมือประมาณ 29,000 ล้านบาท
นายบัณฑูร กล่าวว่า แผนดำเนินธุรกิจของธนาคารใน 2556 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารแล้ว ตั้งเป้าอัตราเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 9-10% และเป็นไปตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าที่ 5 % โดยสินเชื่อปีหน้าจะเน้นทุกกลุ่ม ตั้งแต่รายเล็กถึงรายใหญ่ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะควบคุมไว้ที่ 2-3% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นระดับปกติของสถาบันการเงิน.