ชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคเพื่อไทย ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงนโยบายการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงมาโดยตลอดว่า จะเปลี่ยนวิธีการอุดหนุนราคาข้าวจากการรับ "ประกัน" ถอยหลังกลับมาเป็นการรับ "จำนำ"
การเปลี่ยนแปลงนโยบายกลับไปกลับมาดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อผู้คนในวงการค้าข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มโรงสีข้าว ในแง่ของการปรับตัวที่จะร่วมกับวิธีการใหม่ ๆ ในการรับจำนำ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลกำลังเข้าทางโรงสีข้าว ที่เริ่มเก็บสต๊อกข้าวกันยกใหญ่ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ทั้งการรับจำนำและการประกันราคาข้าวล้วนมีข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับ "ใคร" จะแปรเปลี่ยนนโยบายมาเป็นผลประโยชน์ของตนเองอย่างไร
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายอะไร "ข้าวเปลือก" ทุกเม็ดก็ยังคงผ่านมือโรงสีที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอยู่ดี ตอนนี้ทั้งชาวนา-ผู้ส่งออก-โบรกเกอร์ค้าข้าวต่างประเทศ ต่างรับรู้กันแล้วว่า ราคาข้าวขาวของประเทศไทยจะต้องไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ โดยราคาข้าวในระดับนี้จะมีผลในอีก 5 เดือนข้างหน้า ดังนั้นเมื่อชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นของพรรคเพื่อไทย ราคาข้าวภายในประเทศจึงขยับขึ้นมาทันที
"ผมยอมรับว่า มีการไล่ซื้อข้าวภายในประเทศ ราคาขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ จาก 9,000 บาท/ตัน เป็น 10,800 บาท/ตัน ในขณะนี้ และน่าจะไล่ราคาข้าวเปลือกเจ้าขึ้นไปถึง 12,000-13,000 บาท/ตัน ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งใกล้เคียงกับราคารับจำนำที่รัฐบาลประกาศไว้ที่ 15,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิใกล้เคียงกับ 20,000 บาท/ตัน คนซื้อมีทั้งกลุ่มพ่อค้านักเก็งกำไร ราคาส่งออกก็ขยับขึ้นจาก 450 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไปเรื่อยจนถึง 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน ตอนนี้ใคร ๆ ก็ไล่ซื้อข้าวเข้าเก็บกันไว้ทั้งสิ้น"
ส่วนนโยบายการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น นายชาญชัยกล่าวว่า นโยบายประกันรายได้โรงสีก็เชียร์ แต่วิธีการประกันราคามีข้อผิดพลาดคือ ต้องมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ เหมือนเปิดร้านขายข้าวสารให้ลูกแล้วบอกว่า "ลูกขายเท่าไหร่ก็ได้ ที่เหลือเตี่ยจ่ายให้ อย่างนี้ก็เจ๊งหมด แต่เราต้องบอกลูกว่า ขายเท่าไหร่ก็ได้ แต่อย่าต่ำกว่าราคานี้นะ ไม่อย่างนั้นเจ๊ง ผมบอกรัฐบาลเดิมไปแล้ว ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ได้บอกผ่านท่านไตรรงค์ (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี) แต่ทุกคนกลับมองว่าโรงสีขุดบ่อล่อ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลเสีย 2 ต่อเกือบ 200,000 ล้านบาท คือ รัฐบาลเสียเงินจ่ายชดเชยให้ชาวนา 100,000 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเสีย รายได้จากมูลค่าข้าวที่หายไปอีก 100,000 ล้านบาท"
นอกจากนี้ การประกันราคาข้าวที่ผ่านมายังเกิดข้อผิดพลาดในเรื่องของการควบคุมการขึ้นทะเบียนเกษตรกรอยู่ ๆ พื้นที่เพาะปลูกข้าวก็เพิ่มขึ้นมาอย่างพรวดพราด จาก 60 ล้านไร่ เป็น 70 ล้านไร่ ตัวเกษตรกรเพิ่มจาก 3.6 ล้านคน เป็น 3.7 ล้านคน ในประเด็นนี้ นายชาญชัยเห็นว่าตัวเลขที่ เพิ่มขึ้น หมายถึง ชาวนาได้รับเงินชดเชยจากการประกันราคามากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผลผลิตข้าวจริง แต่ใครจะกล้าเข้าไปตรวจสอบ แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนี้
"ทุกคนมองว่าชาวนาจะได้รับประโยชน์จากเงินชดเชยมีเงินเต็มกระเป๋า แต่เงินจำนวนนี้อยู่กับชาวนาได้ไม่นาน เพราะคนที่รับไปจริง ๆ คือ เจ้าของที่ดิน จากการปรับขึ้นราคาค่าเช่าที่จาก 500 บาท เป็น 1,500 บาท ชาวนาได้เงินมาก็จ่ายเป็นค่าที่ดิน ไม่จ่ายก็ไม่ได้ทำ ส่วนการจะเอาข้าวที่เกินจากการรับประกันรายได้ที่กำหนดไว้ 25 ตันต่อครัวเรือน นำไปขายในท้องตลาดก็ได้ราคาต่ำ ๆ รวมกันทั้งค่าชดเชยและค่าข้าวยังได้ไม่ถึง 10,000 บาท/ตัน แล้ว ผมถามว่า ชาวนาที่ไหนจะชอบนโยบายการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะขายข้าวได้ไม่ถึง 10,000 บาท จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคราวนี้ชาวนาถึงเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเขาจะได้ราคาข้าวจากการจำนำถึง 15,000 บาทขึ้นไป"
แต่เมื่อนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนเป็นการรับจำนำตามที่หาเสียงเอาไว้ โรงสีข้าวมีความเห็นอย่างไร
ในประเด็นนี้ นายชาญชัยเชื่อว่า การเปลี่ยนนโยบายกลับมาเป็นการรับจำนำไม่มีผลต่อตลาดข้าวมากนัก เพราะโรงสีรับได้ทั้งสองนโยบาย เนื่องจากโรงสีถือเป็นโรงงานแปรรูปข้าว รัฐบาลจะใช้การประกันราคาข้าว โรงสีก็อยู่ได้ รัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนมาเป็นการรับจำนำก็อยู่ได้อีก แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ การประกันราคาข้าวที่ผ่านมาให้ประโยชน์กับผู้ส่งออกข้าวเพียงไม่กี่บริษัท ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ซื้อข้าวรัฐบาลไม่ได้จึงเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น
ส่วนปัญหาของการรับจำนำนั้นไม่ได้เกิดจากตัวโครงการ เพราะการรับจำนำข้าวมี 3 ขั้นตอน ข้าวจากชาวนามาออกใบประทวนที่โรงสี ฝากเก็บข้าวเข้าคลัง และระบายข้าวออก ตรงไหนเป็นจุดอ่อนที่สุดก็แก้ตรงนั้น ที่ผ่านมามีกฎระเบียบแต่ไม่มีการบังคับใช้ การทุจริตในโครงการจึงเกิดขึ้น
แน่นอนว่าการรับจำนำข้าวต่อจากนี้ไป แม้รัฐบาลจะเลือกรับจำนำข้าวทุกเมล็ดก็สามารถทำได้ แต่ควรแบ่งข้าวออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก 30-50% ของปริมาณที่รับจำนำมาขายคืนให้กับโรงสีในราคาตลาด เพื่อให้ตลาดหมุนได้ ส่วนที่เหลือก็นำไปเก็บในคลังของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เก็บลืม ต้องมีการสีแปรสภาพข้าวเพราะ 6-8 เดือนไม่แปร ข้าวก็เสื่อม กับส่วนที่ 2 รัฐบาลปรับวิธีการระบาย หนึ่งคือ อาศัยการขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) หรือบาร์เตอร์เทรด นำไปแลกกับสินค้าจำเป็น เช่น ปุ๋ยข้าวตันละ 20,000 บาทเท่ากัน แหล่งผลิตปุ๋ยคือ แหล่งนำเข้าข้าวอย่างฟิลิปปินส์ หรือขายข้าว 1 ปีได้เงิน แสนกว่าล้าน ซื้อน้ำมันใช้ได้ 2 เดือน ทำไมไม่แลก แต่ที่ไม่ทำเพราะมีปัญหาเงินทอน
หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้โรงสีรับอาสาเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งออกได้ และสอง การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เดือนละ 200,000-300,000 ตัน ทุกเดือน ๆ ใครก็สามารถมาเทรด FOB ก็ทำได้
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1310640654&grpid=no&catid=04&subcatid=