Sunday, June 8, 2014

ประชาชาติธุรกิจ: ตลาดข้าวไทยพังอเมริกาพบ "หอมมะลิ" ปลอม

updated: 06 มิ.ย. 2557 เวลา 12:08:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐป่วน ผู้นำเข้าRiviana Foods โร่ฟ้อง พณ.ไล่บี้ผู้ปลอมปนข้าว-เครื่องหมายรับรอง "Thai Hom Mali Rice" ขู่หากยังไม่ดำเนินการ เตรียมหันไปนำเข้าข้าวเวียดนามแทน ด้านบริษัทที่ปรึกษา White & Case ชี้ไทยอาจถูก USPTO ถอดสิทธิ์เครื่องหมายรับรอง

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์ข้าวหอมมะลิในตลาดสหรัฐเข้ามาว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท Riviana Foods ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิตามมาตรฐานของกรมการค้าต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายรับรอง "Thai Hom Mali Rice" กำหนดความบริสุทธิ์ของข้าวไม่น้อยกว่า 92% เข้ามาจำหน่ายในเครื่องหมายการค้า Carolina, Success, Mahatma ที่มลรัฐเท็กซัส

ล่าสุด บริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ถึงปัญหาการจำหน่ายข้าวหอมมะลิปลอมปน และยังมีการปลอมเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิตรารวงข้าว โดยพบในแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Golden Star, Goya,Sunfoods และ Oriental Trading ซึ่งเมื่อบริษัทนำข้าวหอมมะลิเหล่านี้ไปตรวจสอบพบว่าส่วนผสมเป็นข้าวชนิดอื่นที่มีราคา "ถูกกว่า" ข้าวหอมมะลิ เช่น ผสมข้าวหอมปทุมธานี แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือข้าวหอมมะลิปลอมปนเหล่านี้กลับได้รับเครื่องหมายรับรอง "Thai Hom Mali Rice" ของกรมการค้าต่างประเทศเช่นกัน และยังจำหน่ายในราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ (92%) แท้ของบริษัท

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัท Riviana Foods ยังพบอีกด้วยว่า บริษัท Well Luck ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิเวียดนามเข้ามาจำหน่ายในมลรัฐนิวเจอร์ซี ภายใต้ในแบรนด์ Green Elephant ได้ปลอมตราสัญลักษณ์ของกรมการค้าต่างประเทศ โดยระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ว่า "Hom Mali" หรือ "หอมมะลิ" ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ซึ่งมีการกระทำคล้ายคลึงกันกับบริษัท Winn Dixie ซูเปอร์มาร์เก็ตในรัฐฟอริดา มีการนำเข้าข้าวเข้าไปจำหน่าย โดยระบุว่า "Thai Jusmin Rice"

แต่เมื่อนำตัวอย่างข้าว Thai Jusmin Rice ไปตรวจสอบกลับพบว่าไม่มีข้าวหอมมะลิของไทยอยู่เลย ซึ่งปัญหาเหล่านี้บริษัท Riviana Foods เชื่อว่าอาจจะทำให้ผู้บริโภคสหรัฐเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 25.76% โดยในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปีนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 3,963.03 ล้านบาท หรือลดลง 4.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมาน.ส.เบญจวรรณ อุกฤษ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สคร.กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.พร้อมด้วย Mr.Ting-Ting Kao ที่ปรึกษาด้านกฎหมายจากบริษัท White & Case ซึ่งประเทศไทยได้ว่าจ้างไว้ ได้เข้าพบกับ Mr.De Zeeuw ประธานกรรมการและทีมผู้บริหาร บริษัท Riviana เสนอให้ฝ่ายไทยทำหนังสือถึงสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (US-FDA) ฟ้องร้องเรื่องการปิดฉลากที่ไม่เป็นจริง สำหรับข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานของกรมการค้าต่างประเทศ และให้ส่งหนังสือถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ เช่น Costco กับ Walmart แจ้งกรณีการตรวจพบสินค้าข้าวหอมมะลิแอบอ้างเครื่องหมายรับรองของกรมการค้าต่างประเทศ แต่ไม่ได้ผลิตข้าวหอมมะลิตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

"ทางบริษัท Riviana ได้ร้องเรียนปัญหาการปลอมปนและแอบอ้างเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยมาเกือบ 5 ปีแล้ว นับจากปี 2552 แต่ไม่ได้รับการดูแลจากฝ่ายไทย และบริษัทได้ประเมินว่าข้าวหอมมะลิที่วางขายในสหรัฐปัจจุบันที่มีเครื่องหมายรับรองของกรมการค้าต่างประเทศ แต่ไม่ได้มาตรฐาน (92%) มีอยู่มากกว่า 50% หรือครึ่งหนึ่งของข้าวหอมมะลิที่วางจำหน่ายทั้งหมด ดังนั้น ฝ่ายไทยควรแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้นำเข้าทั่วไป หากยังปล่อยให้มีปัญหาการละเมิดเครื่องหมายรับรองต่อไป ก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย และสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อเครื่องหมายรับรองดังกล่าว แม้ว่าผู้บริโภคสหรัฐจะไม่ให้ความสำคัญกับตราสัญลักษณ์ แต่ให้ความสำคัญกับราคาขายเป็นหลัก" Mr.De Zeeuw กล่าว

และที่สำคัญ หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉยไม่ยอมแก้ไขปัญหาการปลอมปนและละเมิดเครื่องหมายรับรองต่อไป บริษัทก็พร้อมที่จะเลิกนำเข้าข้าวหอมมะลิไทย (92%) และจะหันไปนำเข้าข้าวหอมมะลิที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือข้าวจากเวียดนามที่มีขายต่ำกว่ามาขาย เพื่อความอยู่รอดของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัท Riviana Foods เป็นบริษัทลูกของบริษัท Ebro ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1ของโลก และยังเป็นผู้จำหน่ายเส้นพาสต้าอันดับ 2 ของโลก มียอดขายข้าวปีละ 680.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายพาสต้า 459.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตข้าวในแบรนด์ Minute, River Rice, Carolina, Success, Mahatma และ Blue Ribbon จากโรงสีข้าวของบริษัท และมีการนำเข้าข้าวจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัทถือครองส่วนแบ่งตลาด 25% ของตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐทั้งหมด 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้าน น.ส.เบญจวรรณ อุกฤษ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ วอชิงตัน กล่าวว่า สำนักงานได้ประสานกับบริษัท Riviana เพื่อขอตัวอย่างข้าวและดำเนินการสุ่มสำรวจตลาดสินค้าข้าวหอมมะลิไทยจากผู้จำหน่ายหลายรายในเขตวอชิงตัน เวอร์จิเนีย และแมรี่แลนด์ รวมทั้งได้จัดส่งตัวอย่างข้าวหอมมะลิและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้กรมการค้าต่างประเทศตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ามี 5 แบรนด์ที่มีการปลอมปนข้าวหอมมะลิและมีการประทับตรารับรองข้าวหอมมะลิของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นตราที่กรมออกให้กับผู้นำเข้าที่ได้มาตรฐานข้าวหอมมะลิของไทย

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เนื่องจากส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้ง 5 บริษัทที่มีการปลอมปนข้าว ก็ยังขายข้าวหอมมะลิไทยในราคาถูก เป็นการดัมพ์ราคาข้าวหอมมะลิไทยที่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิไทย (มาตรฐาน 92%) แบบถูกต้องได้รับผลกระทบ ถูกแย่งตลาดไป ทาง สคร.ได้เชิญกรมการค้าต่างประเทศเดินทางไปสหรัฐ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการทางกฎหมายต่อไป" น.ส.เบญจวรรณกล่าว

ขณะที่ทางบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย White & Case ได้ให้ความเห็นว่าประเด็นนี้อาจทำให้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐ (USPTO) พิจารณาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องติดต่อกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกสินค้าข้าว เพื่อแจ้งปัญหาปลอมปนที่เกิดขึ้นรวมถึงเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจสอบตักเตือนผู้ที่ใช้ข้าวเวียดนาม และผู้ที่ใช้เครื่องหมายรับรองละเมิด

ส่วนในระยะกลาง-ระยะยาว รัฐบาลไทยต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ปลอมปนและละเมิดดังกล่าว โดยอาศัยกฎหมายอาหารและยา (Food Drug and Cosmetic Act) ห้ามสินค้าที่ปิดฉลากไม่ถูกต้อง หรือปลอมปนผ่านแดน, กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาเท็จ (Lanham Act) ยื่นฟ้องต่อศาลในกรณีที่หีบห่อผลิตภัณฑ์ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และกฎหมายเครื่องหมายการค้า (Trade Mark) โดยเจ้าของสิทธิ์สามารถขอความร่วมมือจากหน่วยงานศุลกากรสหรัฐในการห้ามนำเข้าสินค้าที่ละเมิด และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้ละเมิดให้หยุดการดำเนินการ

ตลอดจนการติดต่อกับรัฐบาลเวียดนาม เพื่อขอความร่วมมือการแอบอ้างใช้คำว่า Hom Mali บนผลิตภัณฑ์ของเวียดนาม ส่วนในระยะยาว ไทยควรส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทยในสหรัฐ และปรับปรุงกฎระเบียบ มาตรฐาน และบทลงโทษ ตลอดจนจัดทำสัญญากับบริษัทผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายรับรองของกรมการค้าต่างประเทศด้วย

ด้าน น.ส.ปานจิตต์ พิศวง รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิที่วางจำหน่ายในสหรัฐเพื่อตรวจสอบ หากพบว่ามีการปลอมปนจริง ก็จะต้องพิจารณาดำเนินคดีในฐานะที่กรมเป็นเจ้าของสิทธิเครื่องหมายรับรอง "Thai Hom Mali Rice"

ส่วน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการ บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด และนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่งออกในลักษณะข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยมบรรจุถุง ซึ่งทางลูกค้ายังให้ความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการปลอมปนแน่นอน อย่างไรก็ตาม กรมจะต้องตรวจสอบว่ามีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการละเมิดเครื่องหมาย "Thai Hom Mali Rice" ที่ไปจดคุ้มครองไว้ในสหรัฐหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทยด้วยอีกทางหนึ่ง

อนึ่ง บริษัทผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดสหรัฐ 5 รายแรก ได้แก่ บริษัทสยามเกรนส์, บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทอุทัยโปรดิวส์, บริษัทไทยลีการเกษตร และบริษัทเอลล์บา บางกอก